แจ้งข่าว...

ขณะนี้เปิดใช้บอร์ดได้ตามปกติแล้ว

16 กรกฎาคม 2550

ประวัติ วิหารปากี(วัดใหญ่)นครชุมน์

ประวัติความเป็นมาของ วิหารปากีวัดใหญ่นครชุมน์

ประวัติความเป็นมาของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แห่งนี้ชาวบ้านเรียกกันมาช้านานแล้วว่าปากีซึ่งอยู่เป็นศักดิ์ศรีแก่ชาวบ้านนครชุมน์มาประมาณ 300 ปี ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ 2 ประการคือ
1.สร้างไว้เพื่อเป็นเชิงเทินสอดส่องระวังข้าศึก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้นได้เกิดศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เรียก กันว่าสงครามเก้าทับ ท้าวพระยามอญทั้งหลายที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัติย์ไทย เมื่อครั้งรามัญพ่ายแก่พม่า ได้ขันอาสามาประจำหัวเมืองชายแดน เพื่อค่อยสกัดกันข้าศึก ไม่ให้เข้าถึงกรุงได้โดยง่าย จึงได้สร้างเชิงเทินนี้ไว้
2. สันนิฐานว่า ชาวมอญที่อพยภมาอยู่บริเวณนี้ ได้สร้างไว้เพื่อที่จะสร้างองค์พระเจดีย์ จำลองพระธาตุมุเตา แต่สร้างไม่สำเร็จจึงได้แต่ส่วนที่เป็นฐานเท่านั้น (พระธาตุมุเตาเป็นสัญลักณ์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฏฐิของพระพุทธเจ้าที่ชาวมอญให้ความเคารพและศรัทธามาก จึงคิดที่จะจำลองเอาไว้เพื่อระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน ) ลุล่วงมาจนถึงปัจจุบันนี้น่าจะมีอายุราว 300 กว่าปี ส่วนคำว่า ปากี นั้นน่าจะมาจากชื่อของผู้สร้างในครั้งแรก คือพระอาจารย์กี ภาษารามัญเรียกว่า อาจากี จนเรียกผิดเพี้ยนมาเป็น ปากี ในปัจจุบัน

ใน พุทธศักราช 2479 พื้นที่ดังกล่าวได้รกร้างเป็นป่าทึบ พระอธิการเข่ง เจ้าอาวาสวัดใหญ่นครชุมน์ ในสมัยนั้นได้เกิดนิมิตเห็น องค์พระได้มาประดิษฐานอยู่บนนั้น จึงเล่านิมิตนั้นให้ชาวบ้านฟัง แล้วชวนกันถากถางทำความสะอาดบริเวณนั้นแล้ว ได้ดำริกันว่าจะต้องหาองค์พระมาประดิษฐานเพื่อเป็นที่สักการะบูชาตามนิมิตของพระอธิการเข่งให้ได้ บังเอิญมีชาวบ้านจาก นครชุมน์ ชื่อนายฟอง จับจุ ได้ไปหางานทำที่ พระนคร (กรุงเทพ) และได้พำนักอยู่ที่วัดตองปุ (วัดชนะสงคราม บางลำภู ซึ่งเป็นวัดมอญที่กรมพระบวรมหาสุรสิงห์นาถ วังหน้า สร้างไว้) ได้มาแจ้งว่า บัดนี้ทางวัดตองปุ ได้มีผู้มีจิตรศรัทธาสร้างพระประธานถวายเป็นจำนวนมาก จนไม่มีที่จะตั้งบูชา จึงดำริให้ไปถวายวัดต่างๆ ตามหัวเมืองที่ยังไม่มีพระประธาน ด้วยบารมีขององค์พระได้ดนใจทำให้ นายฟอง จับจุ ขอพระพุทธรูปที่มีลักษณะการสร้างแบบรามัญ พร้อมรูปปั้นของปฐมอุบาสก ทั้ง 2 ท่าน ที่หมอบกราบอยู่หน้าองค์พระ จึงแจ้งความประสงค์นั้นต่อพระครูหลับเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น เมื่อท่านทราบว่านายฟองขอไปเพื่อให้ชุมชนชาวมอญได้สักการะบูชา ท่านก็มีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะถวายให้ เมื่อทราบดังนั้นแล้ว พระอธิการเข่งและชาวบ้านก็รีบปรึกษากัน ด้วยว่าจะทำยังไรถึงจะได้ไปอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ มาได้โดยเร็ววัน ที่ประชุมเห็นตรงกัน ว่าควรให้นายเตา ง่วนหอม ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการพายท้ายเรือ (สมัยนั้นการคมนาคมไม่สดวกเหมือนปัจจุบัน การเดินทางที่สะดวกสุดคือการลองไปทางน้ำเท่านั้น) เป็นหัวหน้าทีมและได้มีผู้ขันอาสา อีก 8-9 คน ประกอบไปด้วย
1.พระเฟี่ยง ง่วนหอม (ลูกชายนายเตาซึ่งบวชพระอยู่ในขณะนั้น)
2.พระเสนาะ เสลาคุณ
3.ช่างทองชุบ เสลานนท์ (ช่างแกะลวดลายประจำวัดใหญ่)
4.นายลิ่ม เสลาคุณ
5.นายแซ เสลาคุณ ได้เช่าเรือโยงแจว(เรือบรรทุกข้าวมีลักษณะท้องเรือกลมใหญ่) และลูกเรืออีก 3-4 คน พายจากแม่น้ำ แม่กลองลัดเลาะไปตามเส้นทางเดินเรือจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วตัดเข้าคลองบางลำภู และขึ้นจากเรือเดินเท้าอีกกว่ากิโลจึงไปถึงจุดหมาย คือวัดตองปุนั้นเอง รวมระยะเวลาการเดินทางไปรับหลวงพ่อวัดตองปุมาประดิษฐาน ณ.วัดใหญ่นครชุมน์ ประมาณครึ่งเดือน ในปีพุทธศักราช 2479 จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อขึ้นประดิษฐานบนวิหารปากี เพื่อเป็นที่สักการะของชาวมอญนครชุมน์เรื่อยมา ต่อมา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2531 พระอธิการเทียน ญาณสมฺปญฺโณ(พระครูนครเขมกิจ) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่นครชุมน์ ลำดับต่อมา ท่านได้เล็งเห็นความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ เพราะเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวมอญนครชุมน์และประชาชนทั่วไปที่มาขอพร ต่างได้ประสพกับความสำเร็จตามความประสงค์ มาช้านานและสถานที่แห่งนี้เริ่มชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ท่านจึงได้ปรึกษาชาวบ้าน และ คุณวิโรจน์-คุณจิรภา มหาผล (ทั้งสองท่านที่กล่าวถึงนี้เป็นผู้ที่ให้การอุปถัมวัดใหญ่นครชุมน์มาโดยตลอด) เพื่อหารือในการที่จะบูรณะและซ่อมแซม ส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมไป ให้คงทนถาวรสืบต่อจนถึงชนรุ่นหลัง จึงเริ่มปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ตามกำลังศรัทธา อนึ่ง พระครูนครเขมกิจ (เทียน ญาณสมฺปญฺโณ) ท่านได้ดำริที่จะถวายชื่อให้หลวงพ่อวัดตองปุเสียใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าชาวบ้านทั่วไปมักเรียกชื่อหลวงพ่อต่างกัน เพราะไม่รู้ชื่อที่แท้จริง ต่างเรียก หลวงพ่อปากี หลวงพ่อวัดใหญ่ หรือก็หลวงพ่อแลบ้างท่านพระครูนครเขมกิจจึงคิดที่จะถวายชื่ออันเป็นศิริมงคลให้กับชนทั่วไปได้เรียกขาร ท่านจึงไปปรึกษาเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทัยมณีที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งท่านเป็นที่เคารพศัทธาของประชาชนทั่วไปท่านจึงถวายชื่อเป็น พระพุทธพญาแล (หรือหลวงพ่อพญาแล) ความหมายคือเพื่อ การดูแลปกปักรักษาให้ชาวนครชุมน์อยู่เย็นเป็นสุขให้พ้นจากเพศภัยต่างๆนั้นเอง เพราะตั้งแต่อันเชิญท่านมาประดิษฐาน ณ.ที่แห่งนี้ก็ทำให้ชาวมอญนครชุมน์ประสพความร่มเย็นตลอดมา เป็นที่พึ่งทางใจให้กับสาธุชนโดยทั่วกัน

ส่วนองค์พระนั้นหล่อด้วยทองเหลืองทั้งองค์ หน้าตัก...นิ้ว พระเมาลีถอดประกอบได้ (ครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทองเหลืองหายาก ได้ถูกโจรกรรมถอดเอาไปช่างชุบช่างประจำวัดได้หล่อขึ้นมาสวมให้ใหม่โดยหล่อติดกับเศียรพระ) พุทธลักษณะเป็นแบบศิลปะรามัญ ปางโปรด อุบาสกชาวมอญ 2 นาย ซึ่งเป็นพ่อค้าวานิชจาก สุวรรณภูมิ ในสมัยพุทธกาล ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัทลิกะ หรือชาวมอญเราเรียกกันว่า ตะเปาว-ตะโป้ ซึ่งเป็นอุบาสก 2 คนแรกของพุทธศาสนา ที่ได้ถวายข้าว สัตตุผง-สัตตุก้อน แด่พระองค์ (ถ้าท่านสังเกตุให้ดีที่พระหัตด้านขวาขององค์พระจะมีลายเส้นนูนแปดเส้นนั้นหมายถึงพระเกศาของพระองค์ที่ได้ประทานให้ 2 อุบาสก) ก่อนที่อุบาสกทั้ง 2จะทูลลาจากไปได้ขอพระเกศาต่อพระองค์ เพื่อนำไปบูชาที่เมืองมอญ พระองค์จึงประทานให้ 8 เส้น ซึ่งความหมายของเส้นพระเกศาทั้ง 8 นั้นหมายถึง มรรคมีองค์ 8 นั้นเอง คือความเห็นชอบ การดำริชอบ การพูดชอบ การทำชอบ การประกอบอาชีพในทางสุจริต ความพยายามในทางที่ชอบ การตั้งสติชอบ และ การทำสมาธิชอบ นั้นเอง ปัจจุบัน พระเกศาธาตุ ได้ประดิษฐาน ณ. เจดีย์ชเวดากอง ในประเทศพม่า ส่วนพระนอนกับรอยพระพุทธบาทนั้นได้สร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยพระอธิการเข่ง พระนอนได้สร้างตามตำนานพระราหูของชาวมอญ ซึ่งเล่ากันว่าพระราหูได้นับว่าตนเองสามารถกลืนกินพระอาทิตย์ได้ เป็นรองก็แต่พระอินทร์เท่านั้น ครั้นได้ยินว่าองค์พระศาสดาผู้เป็นใหญ่ในโลกนี้ได้เกิดขึ้นแล้วด้วยสำคัญว่าตนเองเป็นผู้มีฤทธานุภาพมากกว่าผู้ใด จึงแสดงอานุภาพของตนให้ประจักษ์ว่าใหญ่เหนือใครๆทั้งปวงในโลกนี้ แต่จะทำให้ตัวของตนนั้นใหญ่ขนาดไหนก็ไม่สามารถเหนือพระพุทธองค์ได้ ถึงแม้พระองค์บรรทมอยู่ก็ตาม
การบูรณะพระวิหารปากีนั้นพระครูนครเขมกิจเจ้าอาวาสและชาวบ้านได้ช่วยกันทำมาโดยตลอด ครั้งล่าสุดหลังคาชำรุดทรุดโทรมมาก ทางคุณวิโรจน์และคุณจิรภา มหาพลได้ถวายปัจจัยจำนวนหนึ่งร่วมกับชาวบ้านนครชุมน์ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จสมบูรณอย่างที่ท่านเห็นอยู่ในขณะนี้

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ( กันยายน )ของทุกๆ ปีจะมีการสมโภชวิหารปากีแห่งนี้ มีการบวงสรวงโดยชาวบ้านมาร่วมพิธีกรรมตลอดจนการทำบุญอุทิศแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และพระเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ มาเป็นเป็นเวลาช้านาน และการปิดทองนมัสการ
องค์ พระพุทธพยาแล พระนอน รอยพระพุทธบาทจำลอง

หมายเหตุการเรียบเรียงและขอสันนิฐานต่างๆเกี่ยวกับประวัติของปากีและพระพุทธพยาแลนั้นบางช่วงบางตอนอาจไม่ตรงกับผู้รู้บางท่านเพราะผู้เรียบเรียงประวัติพยามสอบถามผู้ที่เกี่ยวของและผู้รู้เท่าที่จะค้นพบได้ หากผิดเพี้ยนไปจากผู้ที่ทราบประวัติจริงอย่างละเอียดต้องขออภัยมา
ณ.ที่นี้ด้วย

พระฐิติภัทร ฐานยุตฺโต
ผู้เรียบเรียง

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำได้ดีคับ ทำต่อไปก๊าบ ท่าน เป็นแรงใจให้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากทราบประวัติความเป็นมาของโรงเรียนวัดใหญ่นครชุมน์ค่ะ ช่วยกรุณาตอบให้ด้วยนะคะ ขอบคุณคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอให้ลงบทสวดมนต์ภาษามอญ และมีภาษาไทยกำกับด้วย
ขอบคุณมากครับ