แจ้งข่าว...

ขณะนี้เปิดใช้บอร์ดได้ตามปกติแล้ว

21 กรกฎาคม 2550

ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพหล่อเทียนจำนำพรรษาและทอดผ้าป่าสามัคคี



ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพหล่อเทียนจำนำพรรษาและทอดผ้าป่าสามัคคี
** ณ วั ด ใ ห ญ่ น ค ร ชุ ม น์ **
ตำบลนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบูรี ๗๐๑๑๐ โทร . ๐๓๒ - ๒๐๐๔๙๗
*****************************************

เนื่องจาก วัดใหญ่นครชุมน์เป็นศูนย์รวมพระสงฆ์ เทศการวันเข้าพรรษาและออกพรรษา พระสงฆ์ทั้งหมด รวม ๓ ตำบล จำนวน ๙ วัดมาร่วมประกอบพีธีสังฆกรรมเป็นเวลายาวนานมาแล้ว
ทางวัดจึงได้จัดงานหล่อเทียนจำนำพรรษาขึ้นเป็นประจำปีทุกปี และนำเทียนที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันเป็นเจ้าภาพหล่อแล้วนั้น นำไปถวายวัด ดังกล่าว เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ทำวัตรเช้า - เย็น ฉะนั้นทางวัดจึงบอกบุญมายังทานผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันเป็นเจ้าภาพถวายต้นเทียนต้นละ ๓๐๐ บาท (สามร้อยบาทถ้วน) หรือตามแต่ศรัทธา เพื่อเป็นสิริมงคล แสงสว่างแด่ท่านและครอบครัวตลอดทั้งหน้าที่และการงาน จงเจริญรุ่งเรือง ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

กำหนดการ
วันเสาร์ ที่ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (ตรงกับขึ้น ๑๔ คํ่า เดือน ๘)
เวลา ๐๗.๐๐ น. ทำบุญใส่บาตร เริ่มหล่อเทียน

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๐(ตรงกับขึ้น ๑๕ คํ่าเดือน ๘-๘)วันอาสาฬหบูชาถวายสลากภัตร
เวลา ๐๗.๐๐ น. ทำบุญใส่บาตร
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายสลากภัตร พร้อมภัตตาหารเพลพระสงฆ์ ๓๐ รูป
เวลา ๑๒.๐๐ น. เชิญร่วมรับประทานอาหาร
เวลา ๑๓.๐๐ น. ถวายผ้าป่าโดยพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความสะดวกทางวัดได้จัดเตรียมอาหาร หวาน - คาว ไว้ให้ท่านเปลี่ยนทำบุญกับทางวัด
ส่วนเคื่องของไทยทานให้ท่านจัดเตรียมหามาเองตามกำลังศรัทธา

วันอังคาร ๑๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ (ตรงกับแรม ๑ คํ่า เดือน ๘) วันเข้าพรรษา
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์จำนวน ๑๐๐ รูป
ขอให้ท่านนำอาหาร หวาน - คาว มาถวายพระสงฆ์ที่มาร่วมชุมนุมปวารณาเข้าพรรษา ๙ วัด พระสงฆ์ประมาณ ๑๐๐ รูป และถวายเทียนพรรษาโดยพร้อมเพรียงกัน

จึงขอเชิญท่านทั้งหลายได้ไปร่วมก่รกุศลในโอกาสนี้โดยพร้อมเพรียงกัน
ตลอดงานนี้ มีลิเกให้ท่านชม (รวม ๒ วัน ๒ คืน)
รายได้จากงานนี้จะได้นำไปดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหนังใหม่ต่อไป
พระครูนครเขมกิจ เจ้าอาวาสวัดใหญ่นครชุมน์
พร้อมด้วยคณะกรรมการวัด กำนัน - ผู้ใหญ่ อบต. ครู และชาวบ้านนครชุมน์ ร่วมจัดงาน

19 กรกฎาคม 2550

โครงการการแข่งขันสวดมนต์ภาษาบาลีสำเนียงรามัญ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

๑.หลักการและเหตุผล

เนื่องจากสังคมปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านต่าง ๆ มีผลทำให้ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ถูกละเลยไป และเพื่อดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้ประชาชนอนุรักษ์ประเพณี ของชุมชนให้คงอยู่สืบต่อไป
ในการนี้ วัดใหญ่นครชุมน์และ กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม- ธรรมชาติ และชาวบ้าน ในตำบลนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในประเด็นดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการแข่งขันบทสวดสรรเสริญคุณพระธรรม (เอวอง) และบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าขึ้น เพื่อส่งเสริมพุทธศาสนา ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชน สนับสนุนให้เด็กเข้าใกล้วัดมากขึ้น ให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความรักความสามัคคี และสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม ของชาวมอญลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ให้ดำรงอยู่ต่อไป

๒. วัตถุประสงค์

-๑ เพื่อเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนในชุมชน
-๒ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในชุมชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีคุณค่า
-๓ เพื่อเป็นการสร้างความรักความสามัคคีในชุมชน
-๔ เพื่อส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน
-๕ เพื่ออนุรักษ์ภาษาและการสวดมนต์ภาษามอญให้ดำรงอยู่สืบไป

๓. วิธีดำเนินงาน

จัดให้มีการแข่งขันประเภททีม ๘ คน สำหรับบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า
อายุ ๘-๑๕ ปี (ไม่จำกัดเพศ)
อายุ ๑๖-๒๔ ปี (ไม่จำกัดเพศ)
อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป(ประชาชนทั่วไป)
จัดให้มีการแข่งขันประเภททีม ๔ คน สำหรับบทสวดสรรเสริญคุณพระธรรม (เอวอง)
อายุ ๘-๑๕ ปี (ไม่จำกัดเพศ)
อายุ ๑๖-๒๔ ปี (ไม่จำกัดเพศ)
อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป(ประชาชนทั่วไป)
กติกาการเข้าร่วมแข่งขัน
-ผู้เข้าแข่งขันไม่จำกัดเพศจะชายล้วน หญิงล้วน หรือชายผสมหญิงก็ได้
-ผู้เข้าแข่งขันต้องมีอายุตามที่กำหนดเท่านั้น
-ผู้เข้าแข่งขันต้องสวดเป็นภาษามอญเท่านั้น
-ผู้เข้าแข่งขันทุกคนในทีมต้องสามารถสวดได้ทุกคนหากมีคนหนึ่งคนใดสวดไม่ได้จะถูกตัด
สิทธิออกจากการแข่งขันทั้งทีม
-ผู้เข้าแข่งขันจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อคณะกรรมการเท่านั้น
-ต้องใช้บทสวดมนต์และจังหวะทำนองที่ทางคณะกรรมการกำหนดไว้ให้เท่านั้น
-คณะกรรมการตัดสินและคณะกรรมการจัดงานกลางไม่มีสิทธิ์เข้าแข่งขัน
หลักเกณฑ์การตัดสิน
-สำเนียงและความชัดเจนของภาษา ๑๐ คะแนน
-ความถูกต้องของถ้อยคำและภาษา ๑๕ คะแนน
-ความไพเราะจังหวะและทำนอง ๑๐ คะแนน
-ความพร้อมเพรียงและทีมเวอร์ค ๑๐ คะแนน
-การแต่งกายที่สวยงามและเข้ากับวัฒนธรรมชาวรามัญ ๕ คะแนน
กรรมการตัดสิน
-ผู้สูงอายุที่มีความรู้และเป็นที่เคารพของท้องถิ่นสองฝั่งแม่น้ำ
-ผู้แทนจากกลุ่มหรือชมรมมอญที่มีความรู้ ความสามารถด้านภาษาและบทสวดมนต์มอญในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองสองฝั่ง

๔.วันเวลาและสถานที่ดำเนินโครงการ

-วันที่รับสมัคร ๒๕ – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๐
-สถานที่จัดงานและวันแข่งขัน
ศาลาสวดมนต์วัดใหญ่นครชุมน์ คัดเลือกทีมที่จะเข้าชิงชนะเลิศก่อนวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ตัดสินทีมที่ชนะเลิศในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ทีมที่ชนะเลิศได้รับโล่จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และต้องมาร่วมสวดมนต์ในวันที่ ๒๙ หรือ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ณ วัดใหญ่นครชุมน์ในเทศกาลงานเข้าพรรษา

๕.งบประมาณ

ได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ และกระทรวงวัฒนธรรม

๖.ผลที่คาดว่าจะได้รับ

-๑ พระพุทธศาสนาได้รับส่งเสริมจากประชาชนในชุมชน
-๒ เยาวชนและประชาชนในชุมชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่า
-๓ ประชาชนมีความรักความสามัคคีในชุมชน
-๔ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามได้รับการสนับสนุนอย่างสืบเนื่องจากชุมชน
-๕ การสวดมนต์ภาษามอญได้รับการอนุรักษ์ให้ดำรงอยู่สืบไป

ผู้ดำเนินการโครงการ
-วัดใหญ่นครชุมน์ กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม - ธรรมชาติ

ขอขอบคุณ "คุณสาวบ้านโป่ง" มากครับสำหรับข้อมูล.

สงกรานต์รามัญนครชุมน์ ที่ผ่านมา...

ภาพวีดีโอตัวอย่าง 14.04.07



ภาพวีดีโอตัวอย่าง 15.04.07



รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

16 กรกฎาคม 2550

ประวัติ วิหารปากี(วัดใหญ่)นครชุมน์

ประวัติความเป็นมาของ วิหารปากีวัดใหญ่นครชุมน์

ประวัติความเป็นมาของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แห่งนี้ชาวบ้านเรียกกันมาช้านานแล้วว่าปากีซึ่งอยู่เป็นศักดิ์ศรีแก่ชาวบ้านนครชุมน์มาประมาณ 300 ปี ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ 2 ประการคือ
1.สร้างไว้เพื่อเป็นเชิงเทินสอดส่องระวังข้าศึก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้นได้เกิดศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เรียก กันว่าสงครามเก้าทับ ท้าวพระยามอญทั้งหลายที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัติย์ไทย เมื่อครั้งรามัญพ่ายแก่พม่า ได้ขันอาสามาประจำหัวเมืองชายแดน เพื่อค่อยสกัดกันข้าศึก ไม่ให้เข้าถึงกรุงได้โดยง่าย จึงได้สร้างเชิงเทินนี้ไว้
2. สันนิฐานว่า ชาวมอญที่อพยภมาอยู่บริเวณนี้ ได้สร้างไว้เพื่อที่จะสร้างองค์พระเจดีย์ จำลองพระธาตุมุเตา แต่สร้างไม่สำเร็จจึงได้แต่ส่วนที่เป็นฐานเท่านั้น (พระธาตุมุเตาเป็นสัญลักณ์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฏฐิของพระพุทธเจ้าที่ชาวมอญให้ความเคารพและศรัทธามาก จึงคิดที่จะจำลองเอาไว้เพื่อระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน ) ลุล่วงมาจนถึงปัจจุบันนี้น่าจะมีอายุราว 300 กว่าปี ส่วนคำว่า ปากี นั้นน่าจะมาจากชื่อของผู้สร้างในครั้งแรก คือพระอาจารย์กี ภาษารามัญเรียกว่า อาจากี จนเรียกผิดเพี้ยนมาเป็น ปากี ในปัจจุบัน

ใน พุทธศักราช 2479 พื้นที่ดังกล่าวได้รกร้างเป็นป่าทึบ พระอธิการเข่ง เจ้าอาวาสวัดใหญ่นครชุมน์ ในสมัยนั้นได้เกิดนิมิตเห็น องค์พระได้มาประดิษฐานอยู่บนนั้น จึงเล่านิมิตนั้นให้ชาวบ้านฟัง แล้วชวนกันถากถางทำความสะอาดบริเวณนั้นแล้ว ได้ดำริกันว่าจะต้องหาองค์พระมาประดิษฐานเพื่อเป็นที่สักการะบูชาตามนิมิตของพระอธิการเข่งให้ได้ บังเอิญมีชาวบ้านจาก นครชุมน์ ชื่อนายฟอง จับจุ ได้ไปหางานทำที่ พระนคร (กรุงเทพ) และได้พำนักอยู่ที่วัดตองปุ (วัดชนะสงคราม บางลำภู ซึ่งเป็นวัดมอญที่กรมพระบวรมหาสุรสิงห์นาถ วังหน้า สร้างไว้) ได้มาแจ้งว่า บัดนี้ทางวัดตองปุ ได้มีผู้มีจิตรศรัทธาสร้างพระประธานถวายเป็นจำนวนมาก จนไม่มีที่จะตั้งบูชา จึงดำริให้ไปถวายวัดต่างๆ ตามหัวเมืองที่ยังไม่มีพระประธาน ด้วยบารมีขององค์พระได้ดนใจทำให้ นายฟอง จับจุ ขอพระพุทธรูปที่มีลักษณะการสร้างแบบรามัญ พร้อมรูปปั้นของปฐมอุบาสก ทั้ง 2 ท่าน ที่หมอบกราบอยู่หน้าองค์พระ จึงแจ้งความประสงค์นั้นต่อพระครูหลับเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น เมื่อท่านทราบว่านายฟองขอไปเพื่อให้ชุมชนชาวมอญได้สักการะบูชา ท่านก็มีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะถวายให้ เมื่อทราบดังนั้นแล้ว พระอธิการเข่งและชาวบ้านก็รีบปรึกษากัน ด้วยว่าจะทำยังไรถึงจะได้ไปอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ มาได้โดยเร็ววัน ที่ประชุมเห็นตรงกัน ว่าควรให้นายเตา ง่วนหอม ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการพายท้ายเรือ (สมัยนั้นการคมนาคมไม่สดวกเหมือนปัจจุบัน การเดินทางที่สะดวกสุดคือการลองไปทางน้ำเท่านั้น) เป็นหัวหน้าทีมและได้มีผู้ขันอาสา อีก 8-9 คน ประกอบไปด้วย
1.พระเฟี่ยง ง่วนหอม (ลูกชายนายเตาซึ่งบวชพระอยู่ในขณะนั้น)
2.พระเสนาะ เสลาคุณ
3.ช่างทองชุบ เสลานนท์ (ช่างแกะลวดลายประจำวัดใหญ่)
4.นายลิ่ม เสลาคุณ
5.นายแซ เสลาคุณ ได้เช่าเรือโยงแจว(เรือบรรทุกข้าวมีลักษณะท้องเรือกลมใหญ่) และลูกเรืออีก 3-4 คน พายจากแม่น้ำ แม่กลองลัดเลาะไปตามเส้นทางเดินเรือจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วตัดเข้าคลองบางลำภู และขึ้นจากเรือเดินเท้าอีกกว่ากิโลจึงไปถึงจุดหมาย คือวัดตองปุนั้นเอง รวมระยะเวลาการเดินทางไปรับหลวงพ่อวัดตองปุมาประดิษฐาน ณ.วัดใหญ่นครชุมน์ ประมาณครึ่งเดือน ในปีพุทธศักราช 2479 จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อขึ้นประดิษฐานบนวิหารปากี เพื่อเป็นที่สักการะของชาวมอญนครชุมน์เรื่อยมา ต่อมา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2531 พระอธิการเทียน ญาณสมฺปญฺโณ(พระครูนครเขมกิจ) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่นครชุมน์ ลำดับต่อมา ท่านได้เล็งเห็นความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ เพราะเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวมอญนครชุมน์และประชาชนทั่วไปที่มาขอพร ต่างได้ประสพกับความสำเร็จตามความประสงค์ มาช้านานและสถานที่แห่งนี้เริ่มชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ท่านจึงได้ปรึกษาชาวบ้าน และ คุณวิโรจน์-คุณจิรภา มหาผล (ทั้งสองท่านที่กล่าวถึงนี้เป็นผู้ที่ให้การอุปถัมวัดใหญ่นครชุมน์มาโดยตลอด) เพื่อหารือในการที่จะบูรณะและซ่อมแซม ส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมไป ให้คงทนถาวรสืบต่อจนถึงชนรุ่นหลัง จึงเริ่มปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ตามกำลังศรัทธา อนึ่ง พระครูนครเขมกิจ (เทียน ญาณสมฺปญฺโณ) ท่านได้ดำริที่จะถวายชื่อให้หลวงพ่อวัดตองปุเสียใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าชาวบ้านทั่วไปมักเรียกชื่อหลวงพ่อต่างกัน เพราะไม่รู้ชื่อที่แท้จริง ต่างเรียก หลวงพ่อปากี หลวงพ่อวัดใหญ่ หรือก็หลวงพ่อแลบ้างท่านพระครูนครเขมกิจจึงคิดที่จะถวายชื่ออันเป็นศิริมงคลให้กับชนทั่วไปได้เรียกขาร ท่านจึงไปปรึกษาเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทัยมณีที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งท่านเป็นที่เคารพศัทธาของประชาชนทั่วไปท่านจึงถวายชื่อเป็น พระพุทธพญาแล (หรือหลวงพ่อพญาแล) ความหมายคือเพื่อ การดูแลปกปักรักษาให้ชาวนครชุมน์อยู่เย็นเป็นสุขให้พ้นจากเพศภัยต่างๆนั้นเอง เพราะตั้งแต่อันเชิญท่านมาประดิษฐาน ณ.ที่แห่งนี้ก็ทำให้ชาวมอญนครชุมน์ประสพความร่มเย็นตลอดมา เป็นที่พึ่งทางใจให้กับสาธุชนโดยทั่วกัน

ส่วนองค์พระนั้นหล่อด้วยทองเหลืองทั้งองค์ หน้าตัก...นิ้ว พระเมาลีถอดประกอบได้ (ครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทองเหลืองหายาก ได้ถูกโจรกรรมถอดเอาไปช่างชุบช่างประจำวัดได้หล่อขึ้นมาสวมให้ใหม่โดยหล่อติดกับเศียรพระ) พุทธลักษณะเป็นแบบศิลปะรามัญ ปางโปรด อุบาสกชาวมอญ 2 นาย ซึ่งเป็นพ่อค้าวานิชจาก สุวรรณภูมิ ในสมัยพุทธกาล ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัทลิกะ หรือชาวมอญเราเรียกกันว่า ตะเปาว-ตะโป้ ซึ่งเป็นอุบาสก 2 คนแรกของพุทธศาสนา ที่ได้ถวายข้าว สัตตุผง-สัตตุก้อน แด่พระองค์ (ถ้าท่านสังเกตุให้ดีที่พระหัตด้านขวาขององค์พระจะมีลายเส้นนูนแปดเส้นนั้นหมายถึงพระเกศาของพระองค์ที่ได้ประทานให้ 2 อุบาสก) ก่อนที่อุบาสกทั้ง 2จะทูลลาจากไปได้ขอพระเกศาต่อพระองค์ เพื่อนำไปบูชาที่เมืองมอญ พระองค์จึงประทานให้ 8 เส้น ซึ่งความหมายของเส้นพระเกศาทั้ง 8 นั้นหมายถึง มรรคมีองค์ 8 นั้นเอง คือความเห็นชอบ การดำริชอบ การพูดชอบ การทำชอบ การประกอบอาชีพในทางสุจริต ความพยายามในทางที่ชอบ การตั้งสติชอบ และ การทำสมาธิชอบ นั้นเอง ปัจจุบัน พระเกศาธาตุ ได้ประดิษฐาน ณ. เจดีย์ชเวดากอง ในประเทศพม่า ส่วนพระนอนกับรอยพระพุทธบาทนั้นได้สร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยพระอธิการเข่ง พระนอนได้สร้างตามตำนานพระราหูของชาวมอญ ซึ่งเล่ากันว่าพระราหูได้นับว่าตนเองสามารถกลืนกินพระอาทิตย์ได้ เป็นรองก็แต่พระอินทร์เท่านั้น ครั้นได้ยินว่าองค์พระศาสดาผู้เป็นใหญ่ในโลกนี้ได้เกิดขึ้นแล้วด้วยสำคัญว่าตนเองเป็นผู้มีฤทธานุภาพมากกว่าผู้ใด จึงแสดงอานุภาพของตนให้ประจักษ์ว่าใหญ่เหนือใครๆทั้งปวงในโลกนี้ แต่จะทำให้ตัวของตนนั้นใหญ่ขนาดไหนก็ไม่สามารถเหนือพระพุทธองค์ได้ ถึงแม้พระองค์บรรทมอยู่ก็ตาม
การบูรณะพระวิหารปากีนั้นพระครูนครเขมกิจเจ้าอาวาสและชาวบ้านได้ช่วยกันทำมาโดยตลอด ครั้งล่าสุดหลังคาชำรุดทรุดโทรมมาก ทางคุณวิโรจน์และคุณจิรภา มหาพลได้ถวายปัจจัยจำนวนหนึ่งร่วมกับชาวบ้านนครชุมน์ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จสมบูรณอย่างที่ท่านเห็นอยู่ในขณะนี้

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ( กันยายน )ของทุกๆ ปีจะมีการสมโภชวิหารปากีแห่งนี้ มีการบวงสรวงโดยชาวบ้านมาร่วมพิธีกรรมตลอดจนการทำบุญอุทิศแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และพระเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ มาเป็นเป็นเวลาช้านาน และการปิดทองนมัสการ
องค์ พระพุทธพยาแล พระนอน รอยพระพุทธบาทจำลอง

หมายเหตุการเรียบเรียงและขอสันนิฐานต่างๆเกี่ยวกับประวัติของปากีและพระพุทธพยาแลนั้นบางช่วงบางตอนอาจไม่ตรงกับผู้รู้บางท่านเพราะผู้เรียบเรียงประวัติพยามสอบถามผู้ที่เกี่ยวของและผู้รู้เท่าที่จะค้นพบได้ หากผิดเพี้ยนไปจากผู้ที่ทราบประวัติจริงอย่างละเอียดต้องขออภัยมา
ณ.ที่นี้ด้วย

พระฐิติภัทร ฐานยุตฺโต
ผู้เรียบเรียง